จากนโยบาย ‘ประเทศไทย 4.0’ การขับเคลื่อนเศรฐกิจด้วยนวัตกรรม สู่การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development หรือ EEC) โดยมีพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย และถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ หรือ Aerospace ซึ่งทางรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ให้กับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้เพียงพอที่จะขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ และมีความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมี อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engine) ของประเทศ อีกทั้งส่งเสริมและผลักดันให้มีการยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานในระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความพร้อมในการรองรับการเติบโตของเศรฐกิจ ทางด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศไทย ในระยะ 10 ปีข้างหน้า

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ได้เข้าตรวจเยี่ยมภารกิจการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศของประเทศ เพื่อรองรับการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากร และการสร้างอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคตของประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ทั้งนี้ Gistda เป็นหน่วยงานที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่เหมาะสมสำหรับการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีที่ผ่านมา จิสด้าได้ทำการพัฒนาระบบปฏิบัติการควบคุมดาวเทียมที่พัฒนาโดยวิศวกร สทอภ. เช่น ระบบควบคุมดาวเทียม (VOSSCA) ระบบวิเคราะห์วงโคจร (EMERALD) ระบบผลิตภาพ (SIPPO) ระบบจานส่งสัญญาณดาวเทียม (WATER) อีกทั้งได้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการ GALAXI ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการด้านวัสดุและโครงสร้างการบินและอวกาศเพื่อส่งเสริมภารกิจนวัตกรรมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศด้านการผลิตและซ่อมบำรุงอากาศยาน ห้องปฏิบัติการ SOAR ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการวางแผนเส้นทางการบินที่เติบโตอย่างมากในปัจจุบันและวางแผนระบบถ่ายภาพของดาวเทียมไทยโชต และ Space Insprium พิพิธภัณฑ์อวกาศแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
อีกทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน ของระบบนำทางด้วยดาวเทียมร่วมกับผู้ประการจากประเทศญี่ปุ่น การผลักดันผู้ประกอบการ Startup และเพิ่มมาตรฐาน ของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการไทย และต่างชาติ การจัดตั้งหลักสูตร Master program ร่วมกับมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น (academic exchanges) ซึ่งทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศให้เป็นศูนย์ปฏิบัติงานหลักของจิสด้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการพัฒนาธุรกิจบนฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ถือเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระดับภูมิภาค และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และระบบนวัตกรรมของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่มุ่งเน้นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศนี้จะมีพื้นที่ให้หน่วยงานภาคเอกชนเข้าทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ พร้อมกับให้บริการอันเป็นการสนับสนุนการวิจัยให้บังเกิดผลเชิงพาณิชย์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ


ประมวลภาพบรรยากาศ