ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการเพิ่มศักยภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้โอกาสจากการเปิดประชาคมอาเซียน ที่มุ่งหวังให้เกิดการค้าการลงทุนในส่วนภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดต่างๆตามแนวเส้น Economic corridor ที่จัดว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการค้าการลงทุนประเภทต่างๆ อีกทั้งเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมผ่านการกระจายการพัฒนาไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยสิ่งสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ซึ่ง คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษที่เรียกว่า “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)” โดยเป้าหมายตามแผนการลงทุนที่วางไว้ทั้งภาครัฐและเอกชน มีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และคาดว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการลงทุนดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโต 5% ต่อปี เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 100,000 อัตรา/ปี ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 4 แสนล้านบาท/ปี มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน/ปี และได้ฐานภาษีใหม่ 1 แสนล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตามการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC ยังมีประเด็นท้าทายที่สำคัญรออยู่ กล่าวคือการแก้ไขปัญหาความเหลี่อมล้ำของรายได้ประชากรอันเป็นผลจากการพัฒนา ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องหาวิธีบริหารจัดการและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมของประเทศในภาพรวมเพื่อไม่ให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการจัดการคุณภาพและการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปแก้ไขปัญหา ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. จึงได้เริ่ม โครงการพัฒนาระบบวางแผนและจัดการพื้นที่เพื่อการพัฒนาเชิงมหภาค (The Grand Geospatial Platform founded on ASEAN Economic Clustering Map: GGP) ซึ่งเป็นโครงการที่จะแสดงความเชื่อมโยงพื้นที่โลกตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ด้วย “ระบบภูมิสารสนเทศที่มีพลวัต” อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบเพียงอย่างเดียวไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ EEC ได้ อย่างยั่งยืน แต่ต้องอาศัยความเชื่อมโยงทั้งระดับนโยบาย และมีความร่วมมือกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกรศ. รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ สำหรับการจัดงานในวันนี้ได้มีการทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ สกรศ. และการสัมมนาในหัวข้อ “EEC2 Empowering Ecosystem Connectum” และ หัวข้อ ” เทคโนโลยีกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนา EEC อย่างยั่งยืน” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานระดับนโยบาย และภาคประชาสังคม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ด้านการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน ในระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และระหว่างภาครัฐด้วยกันเอง
ประมวลภาพบรรยากาศ