Lloyd’s register ประกาศรับรองมาตรฐาน AS9100 หรือ “ระบบการจัดการคุณภาพ – ข้อกำหนดสำหรับองค์กรการบิน อวกาศ และการป้องกันประเทศ” ให้กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลหน่วยงานแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ เพื่อแสดงความพร้อมขององค์กรในการผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศให้แก่ประเทศไทยให้ทัดเทียมสากล รวมทั้งกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ

2 กรกฎาคม 2561 นายเจษฎา กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม (หรือผู้แทน) จากบริษัท Senior Aerospace Thailand, Mr.Robert Umstad หัวหน้าผู้ตรวจรับรองมาตรฐานด้านอากาศยานและการบิน จากบริษัท Lloyd’s register, ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิดตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC), ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการจิสด้า และ ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล รักษาการหัวหน้าฝ่ายพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมอวกาศ และหัวหน้าห้องปฏิบัติการกาแลคซี่ ของจิสด้า ร่วมงานรับมอบใบประกาศการรับรองมาตรฐาน AS9100 และเสวนา “มาตรฐานคุณภาพ – กุญแจสำคัญในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่คุณค่าระดับสากลสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ” ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงบรรดาผู้ประกอบการเข้าร่วมงานคับคั่ง

ปัจจุบันรัฐบาลกำลังผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่ง 1 ในอุตสาหกรรมที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและอยากลงทุน คือ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีบทบาทในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศโดยตรง อย่างไรก็ตามมีหลายหน่วยงานที่มีส่วนร่วมผลักดันอุตสาหกรรมนี้ เช่น BOI ที่ส่งเสริมการลงทุน ให้ tax incentive กับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในระดับสูงสุด หรือ CAAT ที่เป็นผู้กำหนดข้อกฎหมาย และกฎการบินสำหรับประเทศไทย หรือแม้แต่สำนักงาน EEC ที่ร่วมส่งเสริมและผลักดันในทุกๆ อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะการซ่อมบำรุงอากาศยาน มุ่งเน้นการลงทุนจากต่างขาติในพื้นที่ EEC เช่น โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา รวมถึงจิสด้าที่มีภารกิจในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมด้านการบินและอวกาศ การบริการทดสอบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เป็นต้น ดังนั้น จึงมีผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยสนใจอยากเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ โดยต่อยอดจากอุตสาหกรรเดิมที่มีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ต้องการที่จะผลิตชิ้นส่วนอากาศยานบ้าง ตามที่รัฐบาลได้สนับสนุน แต่สิ่งที่มักจะเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการไทยคือ “มาตรฐาน”

ณ วันนี้ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศมีมาตรฐานหลายประเภท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ที่จ้างเราผลิตหรือบริการ แต่มาตรฐานอันดับแรกที่มักจะใช้เป็นข้อกำหนดสำหรับอุตสาหกรรมนี้ คือ AS9100 หรือ “ระบบการจัดการคุณภาพ – ข้อกำหนดสำหรับองค์กรการบิน อวกาศ และการป้องกันประเทศ” ซึ่งจะเป็นมาตรฐานในเชิงสัญลักษณ์ว่าองค์กรนั้นๆ มีการบริหารจัดการที่ดี มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะสามารถแสดงถึงความพร้อมในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศให้แก่นักลงทุนต่างชาติ หากประเมินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐาน AS9100 มากที่สุด ตามมาด้วยมาเลเซียและประเทศไทย ซึ่งจริงๆ แล้ว AS9100 ถือเป็น Indicator หนึ่งที่บ่งบอกถึงความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ

ขณะนี้ประเทศไทยเอง มีผู้ประกอบการจำนวน 32 หน่วย กว่า 20 บริษัท ที่ได้รับการรับรอง AS9100 ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วน หรือ ซ่อมบำรุงอากาศยานจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้น ตัวระบบและมาตรฐานต่างๆ ก็จะมีแบบแผนหรือรูปแบบตามบริษัทหลักจากต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อบริษัทเหล่านั้นเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ก็จำเป็นที่ต้องหา supplier ในประเทศ ซึ่ง supplier ในไทยเหล่านั้น ก็ต้องพยายามอัพเกรดตัวเองให้สามารถรับบริการในอุตสาหกรรมการบินจากบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นได้ และ requirement อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ มาตรฐาน AS9100 จึงทำให้บริษัทไทยจำเป็นต้องขอการรับรอง AS9100 ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะเรียนรู้ระบบการจัดการมาตรฐานคุณภาพระดับสากลด้านการบิน อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ต้องยอมลงทุนอย่างมากในการตรวจประเมิน แต่หากได้มาตรฐาน AS9100 แล้ว องค์กรนั้นจะได้รับความเชื่อถือในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ แสดงถึงความพร้อมในการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ นอกจากการหาเป้าหมายในประเทศไทย บริษัทที่ได้รับมาตรฐาน AS9100 จะเข้าสู่ระดับสากลได้ โดยอัตโนมัติเนื่องจากผู้ที่ได้รับมาตรฐานนี้จะมีรายชื่อถูกบรรจุในฐานข้อมูลผู้ประกอบการ Aerospace ที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยก็จะเข้าสู่ Global Value chain ในทันที

สำหรับห้องปฏิบัติการ GALAXI ภายใต้การกำกับของ GISTDA มีภารกิจในการให้บริการทดสอบวัสดุโครงสร้าง หรือวัสดุของอากาศยาน ทั้งธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและการซ่อมบำรุงอากาศยาน ถือเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบอิสระ (independent laboratory) แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ให้บริการประเภทนี้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าการเป็นผู้ให้บริการทดสอบสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศจำเป็นต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน AS9100 ด้วย ซึ่งปัจจุบันห้องปฏิบัติการ GALAXI ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน AS9100D แล้ว จึงถือ GISTDA เป็นหน่วยงานรัฐบาลหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่ได้รับกา รรับรองมาตรฐานนี้ แสดงถึงความพร้อมขององค์กรในการผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศให้แก่ประเทศไทยอีกด้วย

ห้องปฏิบัติการ GALAXI ได้เริ่มให้บริการทดสอบวัสดุอากาศยานด้านความแข็งแรงและโครงสร้างเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการด้านชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งมีหลายรายในประเทศรวมถึงสนับสนุนงานวิจัยในมหาวิทยาลัยด้วย การมีแล็บให้บริการทดสอบประเภทนี้ในประเทศไทยจะสามารถทดแทนการส่งไปใช้บริการและทดสอบในแล็บต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อชิ้นค่อนข้างสูง โดยขณะนี้ได้เปิดให้บริการและมีหน่วยงานภาคเอกชนติดต่อใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เวลาทดสอบไม่เกิน 7 วัน อัตราค่าบริการต่ำกว่าแล็บต่างประเทศกว่า 50%


ประมวลภาพบรรยากาศ