GISTDA ผลักดันระบบ GNSS บริหารจัดการ Smart City เตรียมยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ
3 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับ National Space policy Secretariat ,Cabinet Office of Japan จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “EEC Mega Infrastructure Project Development : An Innovation Approach by New Space Technology Frontier” โดยใช้ GNSS ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเทียบเท่าสากล รวมทั้งมุ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพัฒนาพื้นที่เต็มรูปแบบ
รัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติระยะยาว “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจแบบยั่งยื่น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิตัลที่กำลังมีการการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับ คีย์เวิร์ดสำคัญ “Innovation” “Productivity” และ “Service Trading” ที่จะมาพัฒนาและเพื่มมูลค่าให้กับสินค้าไทยเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” อย่างจริงจัง ทางรัฐบาลฯได้ก่อตั้ง เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่จะช่วยนำเทคโนโลยีดิจิตัลระดับสูงเข้ามาในไทย เพื่อปฏิวัติเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในไทยให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นในพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ
รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ผู้ว่าการรัฐวิสาหกิจและประธานกรรมการใน Mega project หลายแห่งของประเทศไทย (ระหว่างปี 2531-2547) กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดการวางรากฐานเทคโนโลยีระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียม GNSS และ ICT ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง การวางผังเมือง รวมถึงการบริหารจัดการนครอัจฉริยะ หรือ Smart City ซึ่งเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้จะช่วยต่อยอดในผู้ประกอบการในประเทศไทยเกิดการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการบริการ ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมต้นแบบ ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยยกระดับเทียบเท่าสากลและมีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ รวมถึงผลักดันการใช้เทคโนโลยี GNSS แพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย
ภายในงาน ยังมีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆจากประเทศญี่ปุ่นบรรยาย ให้ทรรศนะ และตอบประเด็นข้อซักถามในด้านต่างๆเพื่อพัฒนาพื้นที่ EEC ร่วมกันและพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมาช่วยเหลือปรับใช้ในพื้นที่ตามความร่วมมือที่กระทรวงคมนาคมฯ ญี่ปุ่น และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทย ได้ลงนามกันไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ว่าด้วยการสนับสนุนในการสร้างเครือข่ายสถานีควบคุม GPS และสร้างศูนย์รวบรวมข้อมูลเพื่อใช้การระบุตำแหน่งความแม่นยำสูง รวมทั้งความร่วมมือที่ GNSS Innovation Center จัดแสดงการประยุกต์ข้อมูล GNSS จากดาวเทียม Michibiki ของญี่ปุ่นไปใช้งานจริง
ประมวลภาพบรรยากาศ