เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด เทศบาลนครแหลมฉบัง มหาวิทยาลัยบูรพา และหน่วยงานพันธมิตรจัดกิจกรรมการแข่งขันค่ายนักวางแผนและพัฒนาจังหวัด EEC ครั้งที่ 3 ชิงโล่เกียรติยศนายกรัฐมนตรี (รอบชิงชนะเลิศ) เพื่อสร้างความตระหนัก สำหรับเยาวชน ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐ ครู และประชาชน ในพื้นที่จังหวัดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกทั้งสร้างความร่วมมือและต่อยอดเชิงพื้นที่ (Area based) มากยิ่งขึ้นด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการพัฒนาพื้นที่และจังหวัด ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารภูมิสารสนเทศสิรินธร อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ที่ผ่านมา จิสด้า ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ระยะเริ่มต้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ซึ่งปัจจุบันพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และยานยนต์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประเทศ ประกอบกับมีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางถนน รถไฟ ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของอาเซียน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึกทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ท่าเรือสีหนุวิลล์ของราชอาณาจักรกัมพูชา และท่าเรือวังเตาของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษที่เรียกว่า “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ” โดยเป้าหมายตามแผนการลงทุนที่วางไว้ทั้งภาครัฐและเอกชน มีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และคาดว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการลงทุนดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโต 5% ต่อปี เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 100,000 อัตรา/ปี ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 4 แสนล้านบาท/ปี มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน/ปี และได้ฐานภาษีใหม่ 1 แสนล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตามการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC ยังมีประเด็นท้าทายที่สำคัญรออยู่ กล่าวคือการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรอันเป็นผลจากการพัฒนา ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องหาวิธีบริหารจัดการและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมของประเทศในภาพรวมเพื่อไม่ให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการจัดการคุณภาพและการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปแก้ไขปัญหาดังที่ผ่านมาในกรณีการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุด เป็นต้น

ดังนั้น จิสด้า จึงได้จับมือกับพันธมิตรจัดการแข่งขันและการเรียนรู้การพัฒนาจังหวัดด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและการคิดในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยมุ่งเน้นการวางแผนพัฒนาและการเรียนรู้เชิงพื้นที่ การปรับใช้ศาสตร์พระราชาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม การวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเกษตรกรรม 4.0 และการประยุกต์ใช้ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการพัฒนาพื้นที่และจังหวัด มาจัดการเชิงพื้นที่และการวางแผนเมืองยุคใหม่เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการนำความรู้สู่การพัฒนาพื้นที่ต่อไป

ประมวลภาพบรรยากาศ