ในวันที่ 5 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม (ตึก4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ร่วมกับ Cabinet Office of Japan สำนักนโยบายกิจการด้านอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น, The National Space Policy Secretariat (NSPS) องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ได้จัดงานแนะแนวโครงการแข่งขันประกวดไอเดียธุรกิจนวัตกรรม S-Booster 2019 เพื่อสร้างและออกแบบนวัตกรรมต้นแบบของประเทศไทย ด้าน GNSS ความแม่นยำสูงให้มีความสอดคล้องและตอบโจทย์ความต้องการของตลาด อีกทั้งเพิ่มศักยภาพการให้บริการผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมในรูปแบบใหม่

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สทอภ. มีเป้าหมายหลักคือบริหารและจัดการ ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศและการสำรวจระยะไกล เพื่อการพัฒนาธุรกิจและบริการ ตลอดจนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนและบูรณาการเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านอวกาศ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระดับภูมิภาค และหนึ่งในนวัตกรรมที่ผลักดันก็นั้นก็คือ เทคโนโลยี ระบบดาวเทียมนำทาง Global Navigation Satellite System หรือ GNSS ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยี GNSS มีการเติบโตกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถพัฒนาศักยภาพ ยกระดับมาตรฐานของประเทศในด้านการคมนาคมขนส่ง การจัดทำแผนที่มีความถูกต้องในการวางผังเมืองและเขตเศรษฐกิจ และการเกษตรภายในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพได้ โดยได้มีการพัฒนาแข่งขันกันมาโดยตลอดในเรื่องของความแม่นยำ และความแพร่หลายในการใช้งาน รวมถึงได้ทำความร่วมมือกับบริษัทและหน่วยงานชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้าน GNSS หรือเรียกว่า GNSS Innovation Center (GiNNo) ขึ้น ณ Space Inspirium ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ในศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ดังนั้น เพื่อให้เป็นการสอดรับกับการเติบโตของ GNSS ในประเทศไทยจิสด้าจับมือกับ The National Space Policy Secretariat (NSPS) , Cabinet Office of Japan สำนักนโยบายกิจการด้านอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น และหน่วยงานพันธมิตร จัดการแข่งขันไอเดียธุรกิจนวัตกรรม หรือ S-Booster 2019 ระดับ International ครั้งแรกของประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อยให้สามารถปรับใช้ระบบ

QZSS หนึ่งในดาวเทียมที่ให้ข้อมูลตำแหน่งได้แม่นยำที่สุดในโลก (หลักเซนติเมตร) ในการเพิ่มศักยภาพการให้บริการผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ ระบบ QZSS หรือ Quasi-Zenith Satellite System เป็นระบบระบุพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลกความแม่นยำสูง ที่ออกแบบและพัฒนาโดยประเทศญี่ปุ่น เพื่อการระบุตำแหน่งพิกัดและนำทางด้วยดาวเทียมในแถบภูมิภาคเอเชีย และโอเชียเนียโดยเฉพาะ ระบบ QZSS สามารถให้ค่าพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลกถึงระดับ 10 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าแม่นยำที่สุดกว่าบรรดาระบบนำทางด้วยดาวเทียมชนิดอื่นๆ
นายพรเทพ นวกิจกนก หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมผลิตภัณฑ์อวกาศ สำนักพัฒนาอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศของจิสด้า กล่าวว่า การแข่งขันไอเดียธุรกิจนวัตกรรม หรือ S-Booster 2019 ระดับ International ครั้งแรกของประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อยให้สามารถปรับใช้ระบบ QZSS หนึ่งในดาวเทียมที่ให้ข้อมูลตำแหน่งได้แม่นยำที่สุดในโลก เพื่อการสร้างนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่ม และเข้าสู่มาตรฐานสากล มุ่งสู่การเป็น Global Value Chain ต่อไป

การแข่งขันในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ไอเดียการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Location Based Service (Software, Hardware) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการหลักในปัจจุบัน เช่น รถยนต์ไร้คนขับ เกษตรอัจฉริยะ Moblie Application 2. การต่อยอดการใช้ Platform “Tellus” ที่รวบรวมข้อมูล Big Data ด้าน QZSS ไว้ในที่เดียว (Mobile App, Web App) และ 3. ไอเดียนวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศในภาคธุรกิจ Space Startup Business Idea โดยเราจะเปิดรับไอเดียตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 19 เมษายน 2562 สนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ที่ http://skp.gistda.or.th/s-booster/ สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะมีโอกาสเข้าร่วม workshop ทางด้านธุรกิจด้วยระบบดาวเทียมนำทางพร้อมเข้าร่วมการแข่งขัน ณ ประเทศญี่ปุ่น


ประมวลภาพบรรยากาศ