เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2562 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า แถลงข่าว ผลการศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ปี 2562 ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภายในงาน มหกรรมอวกาศระดับนานาชาติ 2019
ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานอธิการสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศของจิสด้า เปิดเผยว่า ถ้อยแถลงผลการศึกษาสัมพันธ์กับข้อมูลทางเศรษฐกิจการคลังของรัฐบาลไทยและสังคมในอุตสาหกรรมอวกาศที่สอดคล้อง สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมขนส่งการบิน-การผลิตชิ้นส่วนและซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ผ่านทางโครงการเมืองการบินที่อู่ตะเภา โครงการสเปซอินโนโปลีส ในพื้นที่อีอีซีไอ และการส่งเสริมการลงทุนผ่านทางมาตรการต่างๆ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ที่จะทำให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม

สำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ หรือ Aerospace Industry ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงส่งผลไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นผลให้รัฐบาลไทยเร่งผลักดันให้อุตสาหกรรมอวกาศ เติบโตและเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ งานเสวนา Thailand Aerospace Cluster Forum ที่จัดขึ้นภายในงานมหกรรมอวกาศฯ จึงมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในการขยายเครือข่ายอุตสาหกรรม Aerospace ของไทยได้รับแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมของตน ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ อีกส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม Aerospace คืออุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งจิสด้าเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนี้ ทั้งในส่วนของการผลิตและทดสอบดาวเทียม การควบคุมและการจัดการดาวเทียม รวมตลอดถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้อย่างมหาศาล สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ซึ่งระบุว่า “มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้จากอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยนั้นสูงถึง 35,559 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังได้ขานรับกับนโยบายของรัฐบาล และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรม Aerospace ในประเทศไทยอย่างมากมาโดยตลอด และยิ่งไปกว่านั้น บริษัทระดับโลกอย่างแอร์บัส ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาค และพร้อมที่จะร่วมลงทุนกับประเทศไทยในอุตสาหกรรม Aerospace ในระยะยาวอีกด้วย


ประมวลภาพบรรยากาศ